ภาพกิจกรรมใหม่ล่าสุด | |  |
---|
รวมภาพกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์ประจำปีการศึกษา 2558 | |
| |  |  |  |
|
สัปดาห์ที่ 30 ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยสมัยธนบุรี
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยสมัยธนบุรี
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยสมัยธนบุรีกรุงธนบุรีมีอายุเพียง 15 ปีแต่ก็ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีคุณค่าอันสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเกิดจากปัจจัยสำคัญ คือ
การรับอิทธิพลด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสืบทอดมาจากอยุธยา เช่น ด้านศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ
การรับอิทธิพลจากอารยธรรมตะวันตก มีผลต่อภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยสมัยธนบุรีน้อยมาก ถึงแม้จะมีการเผยแผ่คริสต์ศาสนา แต่สิ่งที่สำคัญมากคือ ความต้องการอาวุธปืนที่ใช้ในการป้องกันประเทศ ดังปรากฏหลักฐานที่บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ได้ถวายปืน 50 กระบอก เพื่อแลกกับไม้ฝางของไทย
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยในการพิจารณาทำเลที่ตั้งของราชธานี
อยู่ริมแม่น้ำและอยู่ใกล้ทะเล การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกชัยภูมิให้เมืองธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ของไทยเพื่อป้องกันมิให้พม่าโจมตีได้ เพราะแถบนี้น้ำลึก ถ้าข้าศึกยกทัพมาทางบกไม่มีทัพเรือเป็นกำลังด้วยแล้วยากที่จะเข้ามาตีกรุงธนบุรีได้ ประกอบกับธนบุรีมีป้อมปราการมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นเมืองขนาดย่อม ทัพบกและทัพเรือของธนบุรี
ย่อมสามารถรักษาราชธานีไว้ได้ แต่ถ้ารักษาไม่ได้ ก็สามารถยกทัพกลับไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองจันทบุรีดังเดิม นอกจากนี้การที่กรุงธนบุรีตั้งปิดปากน้ำย่อมป้องกันมิให้หัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของธนบุรีสามารถไปมาค้าขายหรือแสวงหาอาวุธจากต่างประเทศได้ยากขึ้น ขณะที่ทางธนบุรี
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยในการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีวิต
สมัยธนบุรีได้ประสบกับภาวะสงครามและการขาดแคลนข้าว ทำให้เป็นปัญหาของสังคมไทยในขณะนั้น จึงมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการดำรงชีวิต เช่น
1.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงแก้ปัญหาด้วยการโปรดให้ผู้คนที่อดอยาก เข้ามารับพระราชทานข้าวปลาอาหาร ขณะนั้นข้าวสารที่พ่อค้าสำเภาจีนนำมาขายมีราคาแพงมาก แต่พระองค์ก็ซื้อข้าวสารแจกจ่ายราษฎรข้าวมาขายเพื่อหวังผลกำไรเป็นจำนวนมาก เมื่อข้าวสารในท้องตลาดมีมากจึงส่งผลให้มีข้าวสารมีราคาถูกลง
2.พระองค์ทรงให้บรรดาข้าราชการทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยหันไปทำนาเพิ่มปีละ 2 ครั้ง ทั้งนาปีและนาปรัง ทำให้มีข้าวบริโภคมากขึ้น ครั้นเมื่อเกิดหนูชุกชุมกัดกินข้าวในยุ้งฉางและทรัพย์สินของราษฎรเสียหายก็ทรงรับสั่งให้จับหนูมาส่งกรมนครบาล ทำให้จำนวนหนูลดลง ภูมิปัญญานี้ส่งผลถึงปัจจุบันทำให้ประเทศไทยติดอันดับในการส่งออกข้าวไปขายยังต่างประเทศ
3.ให้ขุดคูเมืองทั้งสองฟากซึ่งเดิมเป็นสวนปลูกผักผลไม้ให้ขุดออกเป็นที่ท้องนา เรียกว่า ทะเลตม เพื่อไว้ทำนาใกล้พระนคร สำหรับเป็นเสบียงในยามขาดแคลนข้าว แต่เมื่อข้าศึกยกมาก็สามารถทำเป็นที่ตั้งค่ายไว้ต่อสู่กับข้าศึกได้ สะดวกต่อการค้าขายทางทะเลกับต่างประเทศ และสามารถแสวงหาอาวุธได้ง่ายเพราะอยู่ติดทะเล
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยด้านศิลปกรรม
เนื่องจากสมัยธนบุรีเป็นราชธานีในระยะเวลาสั้น ๆ และต้องตกอยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลา
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้านศิลปกรรมจึงมีอยู่บ้าง เช่น
เรือ การต่อเรือเจริญมากเพราะมีการต่อเรือรบ เรือสำเภา ตลอดจนเรือกระบวนไว้ใช้ในราชการเป็นจำนวนมาก
สถาปัตยกรรม กรุงธนบุรีเป็นยุคของการสร้างบ้านแปลงเมือง จึงมีการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก อาทิ พระราชวัง ป้อมปราการ กำแพงพระนคร พระอารามต่าง ๆ ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยนี้ล้วนสืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ฐานอาคารจะมีลักษณะอ่อนโค้งดุจรูปเรือสำเภา ทรงอาคารจะสอบชะลูดขึ้นทางเบื้องบน ส่วนประกอบอื่น ๆ ของอาคารก็ไม่แตกต่างจากอยุธยามากนัก เป็นที่น่าเสียดายว่าสถาปัตยกรรมสมัยธนบุรีมักได้รับการบรูณะซ่อมแซมในสมัยหลังหลายครั้งด้วยกัน ลักษณะในปัจจุบัน
จึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่บูรณะครั้งหลังสุด เท่าที่ยังปรากฏเค้าเดิมในปัจจุบัน ได้แก่
ป้อมวิชัยประสิทธิ์ กำแพงพระราชวังเดิม พระตำหนักท้องพระโรง และพระตำหนักเก๋งคู่ในพระราชวังเดิมที่ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างมาจากจีน พระอารามทั้งในพระนครและหัวเมืองที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์
ในรัชกาลนี้ล้วนแต่ได้รับการบรูณะใหม่ในรัชกาลต่อมาเช่นกัน ที่ยังแสดงลักษณะศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ พระอุโบสถและพระวิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถและพระวิหารเดิมวัดราชคฤห์
พระอุโบสถเดิมวัดอินทาราม ตำหนักแดง วัดระฆังโฆสิตาราม และพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม
ประณีตศิลป กรุงธนบุรีมีนายช่างผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อย่างพร้อมมูล ทั้งช่างรัก ช่างประดับ
ช่างแกะสลัก ช่างปั้นและช่างเขียน งานประณีตศิลป์ชิ้นสำคัญสมัยนี้ ได้แก่ ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ 4 ตู้
ในหอวชิรญาณ ซึ่งได้มาจากวัดราชบูรณะ วัดจันทาราม และวัดระฆังโฆสิตาราม ช่างหล่อคนสำคัญปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า โปรดให้หลวงวิจิตรนฤมล ปั้นพระพุทธรูปให้ต้องตามพุทธลักษณะที่โปรดให้สอบสวน แล้วหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ยืนองค์หนึ่งปางสมาธิองค์หนึ่ง งานแกะสลัก ได้แก่พระแท่นบรรทมในพระอุโบสถน้อย วัดอรุณราชวราราม ในพระวิหารวัดอินทาราม และตั่งจากอำเภอแกลง
จังหวัดระยอง ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ
จิตรกรรม ภาพจิตรกรรมสมัยธนบุรีอาจดูได้จาก ตำราภาพไตรภูมิ (ฉบับหลวง) มีการวาดภาพเกี่ยวกับไตรภูมิหรือโลกทั้งสาม เพื่อปลูกฝังให้คนไทยเกิดความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ประพฤติกรรมดี ละเว้นความชั่ว ซึ่งเก็บรักษาอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ และลวดลายรดน้ำที่ปรากฏบนตู้พระไตรปิฎกและภาพจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วรรณกรรม วรรณกรรมสำคัญที่เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี มีดังนี้
1. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี
2. ลิลิตเพชรมงกุฎ ประพันธ์โดยหลวงสรวิชิต (หน)
3. อิเหนาคำฉันท์ ประพันธ์โดยหลวงสรวิชิต (หน)
4. กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ประพันธ์โดยพระยาราชสุภาวดี และพระภิกษุอินท์
5. โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ประพันธ์โดย นายสวนมหาดเล็ก
6. นิราศกวางตุ้ง หรือนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีนครั้งกรุงธนบุรี พ.ศ. 2324 บทประพันธ์ของพระยามหานุภาพ เป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้
นาฏดุริยางค์และการละเล่น แม้ว่าศิลปกรรมเหล่านี้จะได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยสงคราม โดยถูกพม่ากวาดต้อนไปบ้าง แต่ก็ยังไม่สูญหายไปเสียทีเดียว ยังคงหลงเหลืออยู่ตามหัวเมืองสำคัญ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช และหลบซ่อนตัวตามเมืองอื่นบ้าง
นอกจากในพระราชสำนักแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้พระราช ทานโอกาสให้บุคคลทั่วไป มีครูฝึกสอนละครนาฏศิลป์ และจัดแสดงได้โดยไม่จำกัด
ทั้งนี้เพื่อบำรุงขวัญประชาชนซึ่งเพิ่งรวบรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นใหม่ ๆ นาฏศิลป์และการละเล่นสมัยกรุงธนบุรีที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุ สมโภชพระแก้วมรกต พ.ศ. 2323 คือ โขน หนัง หุ่น ละคร รำ (รำหญิง,รามัญรำ,ชวารำ,ญวนรำถือโคมดอกบัว) มโหรี ปี่พาทย์ ระเม็งโมงครุ่ม ญวนหกและคนต่อเท้า โจนหกร้านหอก หกไม้ลำเดียว หกไม้สูง 3 ต่อ ไต่ลวดลังกาไม้ลวดต่ำ คุลาเล็ก มังกรตรีวิสัย(แทงวิสัย) โตกระบือหรือโตกระบือจีนเงาะ มวย คู่ปล้ำ เสลหรือดาบดั้ง คู่ง้าว คู่ทวน คู่หอก คู่กฤช ชนช้าง แข่งม้า ทวนหลังม้า กระบี่หลังม้าและม้าคลุมม้าคลี และยังโปรดให้เจ้านครศรีธรรมราชจัดละครมาร่วมงานเป็นการประกวดประชันกันของหลวงด้วย
x
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น